หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง

 

หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายดอนหลวง

ประวัติผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง บ้านดอนหลวงเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือรายใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ที่ตั้งอยู่ในตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 200ปีของบ้านดอนหลวงและการทอผ้าด้วยมืออันลือเลื่องที่อยู่คู่วิถีชีวิตมาตั้งแต่เดิม แรกเริ่มเดิมทีบ้านดอนหลวงชื่อ หมู่บ้านกอถ่อน เป็นหมู่บ้านชาวยองที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ้งของแคว้นสิบสองปันนาในจีนตอนใต้ที่ค้าวัวค้าควายมาก่อน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองประเทศพม่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองลำพูนตั้งบ้านเรือน”เก็บฮอมตอมไพร่” เพื่อบูรณะฟื้นฟูเมืองหลังจากรกร้างจากการทำสงครามกับพม่า

ชาวยองเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบันเป็นชุมชนใหญ่ประกอบกับที่ตั้งหมู่บ้านเป็น  ที่ดอน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านดอนหลวง” วิถีชีวิตของคนยองในสมัยก่อนจะทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวควาย เมื่อว่างจากงานหลักหญิงสาวมักจะทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยคนเมืองยองเรียกการทอผ้าว่า “ตำหูก” แต่ละบ้านจะทอผ้าจากฝ้ายที่ปลูกเอง แล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย จากนั้นย้อมสีเส้นด้ายด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต จากนั้นจึงนำมาขึ้นกี่ที่มีอยู่ใต้ถุนบ้านแทบจะทุกหลังคาเรือนเพื่อทำการถักทอเป็นผ้าผืนตามขนาดที่ต้องการ โดยผ้าที่นิยมทอกันในสมัยนั้นจะเป็นผ้าสีพื้น จากนั้นนำมาตัดเย็บเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป อาทิเช่น ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เป็นต้น ในสมัยก่อนเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านจะทอผ้าด้วยมือกันเป็นแทบทุกคน หากว่าเป็นแต่ลวดลายพื้นๆ ที่เรียกว่าลาย 2 ตะกอ การทอผ้ามือจึงถือได้ว่าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาและเป็นกิจกรรมที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านดอนหลวงมาเป็นเวลานานนับร้อยๆปี

ความเจริญเริ่มแผ่ขยายเข้ามาสู่ตัวอำเภอป่าซางผ่านทางถนนหลวงที่ตัดผ่านเมืองป่าซางเพื่อทอดตัวไปสู่เชียงใหม่ การทอผ้ามือของช่างทอผ้าบ้านดอนหลวงจึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงการทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันอีกต่อไป แต่กลายไปเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้องแทนการทำไร่ทำนาอย่างในอดีต การตั้งขึ้นของโรงงานทอผ้าในตัวเมืองอำเภอป่าซางทำให้ช่างทอผ้าจากบ้านดอนหลวงหลายๆคนถูกดึงตัวออกไปทำงานยังโรงงานทอผ้าทำหน้าที่เพื่อคิดค้นลวดลายใหม่ๆและยกลวดลายจากใบกระดาษแบบลายของเจ้าของโรงงานให้ลงสู่ผืนผ้าจริง การออกไปทำงานยังโรงงานทอผ้าในตัวเมืองป่าซางเสมือนการเปิดประตูความรู้ของช่างทอผ้าบ้านดอนหลวงให้รู้จักและเรียนรู้การทอผ้าลวดลายแปลกใหม่ที่ทันสมัย การใช้สีสันบนชิ้นงานให้เป็นที่ถูกใจของตลาด ได้พบและเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของการทอผ้าที่ไม่ใช่การทอผ้าเพื่อชีวิตประจำวัน เมื่อสั่งสมความรู้และประสบการณ์จนเชี่ยวชาญจึงได้กลับมาพัฒนาการทอผ้าให้ก้าวไกลออกไปอีกขั้นการทอผ้ามือบ้านดอนหลวงผ่านการสะสมความรู้และประสบการณ์หลายต่อหลายรุ่น จนกลายเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่า แม้ปัจจุบันการทอผ้าจะค่อยๆจางหายไปจากชุมชน ทุกหลังคาเรือนไม่ได้ทอผ้าใช้อย่างในอดีต หลายๆคนหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พยายามสืบสานและพัฒนาการทอผ้าต่อไป

ในปี พ.ศ. 2535 กลุ่มทอผ้าบ้านดอนหลวงเป็นหนึ่งในความร่วมมือของคนในชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และคงอยู่ของการทอผ้าฝ้าย เริ่มก่อตั้งโดยความสนับสนุนของภาครัฐ แรกก่อตั้งมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 15คน กลุ่มทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนา และกระจายสินค้าแก่สมาชิก โดยมีศูนย์จำหน่ายสินค้าจากผ้าฝ้ายทอมือที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2532 โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (ก.น.ช.) ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งมาสร้างศาลาประชาธิปไตยในพื้นที่ของวัดดอนหลวง และได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์หัตถกรรม ต่อมาอาคารดังกล่าวได้ทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงมีการประชุมปรึกษาหารือและได้สร้างอาคารศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ผ้าทอขึ้นใหม่ในที่เดิม ประมาณปี พุทธศักราช 2541 โดยได้รับงบประมาณจากโครงการมิยาซาวา ซึ่งอาคารนี้มีใช้เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมสินค้าหัตถกรรมของกลุ่มเครือข่ายและเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับการทอผ้า การย้อมสีผ้า รวมทั้งกระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์  ต่อมาในปี พ.ศ.2542  ได้รับรางวัลหมู่บ้านอุตสาหกรรมดีเด่น  จึงมีการขยายกลุ่มโดยการเปิดรับสมาชิกเพิ่ม เพื่อขยายความร่วมมืออนุรักษ์และพัฒนาการทอผ้าฝ้ายให้คงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

ปัจจุบันการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านดอนหลวงมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลายให้มีความทันสมัย กลายเป็นสินค้าหัตถกรรมจากผ้าฝ้ายหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น เสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง เป็นต้น อีกทั้งยังผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมายทั้งในและนอกประเทศ นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากผ้าฝ้ายทอเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

บ้านดอนหลวงจัดงาน “แต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546  ซึ่งกลายมาเป็นงานแสดงสินค้าประจำปีของหมู่บ้าน และบ้านดอนหลวงได้เป็นหมู่บ้านโอท็อปแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (หมู่บ้าน OVC) ในปี พ.ศ. 2549

ที่ตั้ง : ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

Scroll to Top